เรื่องการทำบุญเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานานและคนไทยก็ชอบการทำบุญไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องของการทำบุญอยู่มากเช่น บางคนอาจคิดว่าการทำบุญต้องเป็นเรื่องของทานคือ การให้อย่างเดียว หรือต้องนึกถึงพระที่วัดเท่านั้น บางคนก็มีความสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำว่าถูกวิธีหรือไม่ เป็นบุญหรือเป็นบาป แต่บางคนก็อยากรู้ว่าทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญมาก เป็นต้น ซึ่งสองกรณีหลังคนไทยจะเป็นกันมาก
ทั้งนี้ ไม่รวมพิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่ก็ถูกนำเข้ามาให้บริการทั้งในวัดและนอกวัด เช่น การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา เป็นต้นเพื่อแก้ความสงสัยและความอยากรู้ของผู้ที่รักในการทำบุญทั้งหลาย วันนี้จึงนำเคล็ดลับดีๆ จากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงมาบอกเพื่อการทำบุญที่ถูกต้องต่อไป
มารู้จักบุญในพระพุทธศาสนาก่อน
อย่างที่กล่าวว่าคนไทยชอบทำบุญในเรื่องทาน การให้ การบริจาคเป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นว่า คิดจะทำบุญทั้งทีก็ต้องทานมาเป็นที่หนึ่งจึงไม่ค่อยเห็นใครให้ความสนใจปฏิบัติในบุญอีกสองประการ ทั้งที่มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน นั่นก็คือ
1.การรักษาศีลและการเจริญจิตตภาวนาบุญ
คือ ทาน ศีล ภาวนา เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 3 หมายความว่า ถ้าประสงค์จะทำบุญสามารถทำได้โดยการให้ทานก็ได้ รักษาศีลก็ได้ เจริญภาวนาก็ได้ แต่เพื่อให้สะดวกแก่ผู้ปฏิบัติก็มีการจำแนกบุญออกไปอีก 10 ประการ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่ง 3 ข้อแรกเหมือนกัน ส่วนอีก 7 ข้อประกอบด้วย การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม และการทำความเห็นให้ตรงคือการมีความคิดดี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของบุญทั้งนั้น ถ้าใครทำบุญหรือความดีอะไรก็ตามหากเข้าหลักแห่งบุญทั้ง 10 ประการ ก็ถือว่าได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เช่น การช่วยงานสังคมโดยไม่หวังชื่อเสียงและสิ่งตอบแทน ก็จัดว่าได้ทำบุญข้อประกอบขวนขวายในกิจที่ชอบ เป็นต้น
2.คิดทำบุญต้องกำจัดตระหนี่ก่อน
มีปัญหายอดฮิตข้อหนึ่งที่หลายคนสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าใส่บาตรให้พระภิกษุสมมติเป็นพระภิกษุที่ไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ผู้ทำจะได้บุญไหม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระเหมือนกับนาข้าว สมมติเรามีข้าวเปลือกอยู่ในกำมือก็ต้องพิจารณานาที่จะหว่านว่าพร้อมที่จะทำให้ข้าวของเรานั้นเจริญงอกงามแค่ไหน ถ้าต้องการผลที่ดีอันเกิดจากข้าวก็ต้องเลือกนาที่มีคุณภาพ หากถ้าไม่มีนาที่มีคุณภาพจริงๆ ยังไงก็ต้องเลือกหว่านดีกว่าที่จะปล่อยให้ข้าวเปลือกต้องเน่าในมือ
"แต่พอหว่านเสร็จแล้วตอนหลังจึงค่อยไปถอนหญ้าหรือวัชพืช หรือไปให้น้ำ ดูว่านาแล้งหรือน้ำท่วมแล้วค่อยปรับให้เหมาะสมกับเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่ทำเลย คือไม่หว่าน ไม่ดี เพราะถ้าไม่หว่านข้าวก็เน่าในมือ
"ถ้าเราได้ผู้รับทานของเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะบุญที่ทำจะได้มีความบริบูรณ์ครบถ้วน แต่ถึงแม้จะได้ทำกับพระที่ไม่ได้อย่างที่ใจคิดก็ยังได้บุญอยู่หากเรามีเจตนาและศรัทธาที่มั่นคง อย่างไรก็ตามถ้าเป็นไปได้ผู้ทำบุญไม่ควรคิดในเรื่องนี้ เพราะการคิดอย่างนี้เท่ากับว่าตัวเรายังสละความตระหนี่ออกไปจากใจของตัวเองไม่ได้ อีกทั้งถ้าเลือกมากวันนั้นอาจไม่ได้ใส่บาตรเพราะพระกลับเข้าวัดหมด"
"คนที่มีความตระหนี่ไม่เคยให้อะไรแก่ใครนั้น เปรียบเหมือนน้ำที่ขังซึ่งจะเน่าเร็ว แต่น้ำที่ไม่ขัง มีการไหลเวียนตลอด เช่น แม่น้ำคงคา มีการทิ้งซากศพลง เป็นต้น ก็ไม่เคยปรากฏข่าวว่าแม่น้ำคงคาเป็นบ่อเกิดแห่งเชื้อโรค ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนใจคนถ้าไม่รู้จักการให้เลย ใจจะเน่าเร็ว แต่ถ้าใจค่อยๆ ขยายออก รู้จักแบ่งปัน ก็จะสดใสตลอด มีอารมณ์อะไรมากระทบก็ผ่องใส เพราะว่ามีการถ่ายเทตลอด"
3.มีทัศนคติที่ดีต่อการทำบุญ
มีหลายคนที่มีทัศนคติไม่ดีต่อการทำบุญ เช่น คิดว่าทำความดีไม่ได้ดี หรือทำความชั่วได้ดี เป็นต้น ซึ่งท่าทีถือเป็นอุปสรรคต่อการทำบุญ เพราะว่ายังไม่มีความเข้าใจในหลักของพระพุทธศาสนาที่สอนว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ไม่ใช่ได้ดี
การที่จะทำบุญอะไรก็ตามไม่มีอะไรบอกเหตุว่าผลที่ได้จะปรากฏเมื่อใดเหมือนคนปลูกมะม่วงในวันนี้แล้วหวังที่จะกินผลในวันนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนว่าปลูกมะม่วงผลในวันนี้ที่ที่ได้ชัดเจนก็คือมะม่วงแน่นอน แต่จะได้กินผลของมันหรือไม่ไม่แน่ อาจได้กิน หรือไม่ได้กินก็ได้เพราะมันอาจเน่าก่อนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
4.เริ่มที่ศรัทธาแต่ต้องคู่ปัญญา
สิ่งหนึ่งที่การทำบุญจะไม่บริสุทธิ์ก็คือ การทำบุญที่ใช้แต่ศรัทธาเป็นตัวนำแต่ปราศจากปัญญากำกับ ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็มีปรากฏในสังคมไทย เช่น บางคนทำบุญจนหมดตัว บางคนทำบุญแล้วมีปากเสียงกับคนในครอบครัว นี้คือลักษณะของคนทำบุญที่ใช้ศรัทธาแต่ไม่ใช้ปัญญา ซึ่งก็ทำให้มองได้ว่าเป็นการกระทำที่ลุ่มหลง ซึ่งพอลุ่มหลงก็มักจะไปผิดทางเสมอ กล่าวคือเห็นเขาทำอะไรก็เอาด้วยหมด
5.มีโอกาสต้องรีบทำ
ทุกคนที่เกิดมาโดยพื้นฐานแล้วอยากทำบุญทั้งนั้น แต่ปัญหาที่หลายคนประสบอยู่คือ เจ้ากรรมนายเวรไม่เปิดทางให้ เช่น บางคนวางแผนที่จะทำบุญด้วยการจะไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดนั้นวัดนี้ เคลียร์งานเรียบร้อย แต่พอถึงวันก็ไม่โอกาสได้ทำ เพราะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้มีหลายคนที่ประสบเพราะฉะนั้น หากคิดจะทำบุญถ้ามีโอกาสต้องรีบทำทันที ไม่ควรปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดลอยไป เพราะถ้าโอกาสหลุดลอยไปก็อาจไม่มีวันได้ทำความดีอะไรเลย
"สิ่งหนึ่งที่ผมคิดคือเมื่ออยากทำบุญอะไรจะตั้งจิตเอาไว้ตลอดและบอกว่าในบุญกุศลที่ได้ทำขอให้ได้มีโอกาสเปิดกองบุญที่ทำมาทั้งสังสารวัฏ ต่อไปนี้ถ้าจะทำบุญอะไรก็ตามที่ไม่เคยทำมาก่อนในสังสารวัฏก็ขอให้พระพุทธองค์ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งศักดิ์ รวมถึงเจ้ากรรมนายเวรได้มาอนุโมทนาและเปิดทางให้ ซึ่งเมื่อตั้งปรารถนาอย่างนี้เวลาที่ตั้งใจจะทำอะไรพอคิดปุ๊บสำเร็จทันที"
6.ทำบุญแบบน้ำคว่ำขันได้บุญมาก
การทำบุญแบบน้ำคว่ำขันคือ เช่น เมื่อให้อะไรใครแล้วก็ไม่ปรารถนาที่จะได้คืน หรือให้เขาได้ชื่นชมยกย่องว่าเราให้เขา แต่เป็นการสละแบบขาดตัว เหมือนกับน้ำอยู่ในขันที่คว่ำลงไปที่ไม่มีใครอยากได้คืน แต่ว่าก็มีหลายคนที่ยังอยากได้คืน เช่น เคยนำสิ่งของไปให้เพื่อนบ้าน คิดว่าวันหลังเพื่อนบ้านอาจจะมีสิ่งของมาให้บ้าง หรือแม้ให้อะไรใครก็หวังว่าอย่างน้อยที่สุดเขาจะชื่นชมยกย่องตัวเอง
สำหรับพระพุทธเจ้าไม่เคยใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้"พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีแบบน้ำคว่ำขัน เช่น ทานบารมี ก็สามารถให้ได้ทั้งวัตถุ ร่างกาย ชีวิตของตัวเองได้ทันที อย่างเราถ้ามีคนตาบอดมาขอลูกตาข้างเดียวหรือสองข้างจะกล้าควักให้ไหม เชื่อว่าไม่มีใครกล้าหรอก แต่พระโพธิสัตว์ควักให้ทันที"
สำหรับเราถ้าทำไม่ได้อย่างพระโพธิสัตว์ก็ให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเริ่มที่สเต็ปง่ายๆ คือพยายามสละสิ่งภายนอกให้ได้ก่อน สุดท้ายก็มาสละอารมณ์ที่เป็นเรืองของจิตใจ เช่น ใครด่าก็เฉยไม่แสดงอาการขุ่นเคือง เป็นต้น
7.วิธีรักษาศีล เจริญภาวนาง่ายๆ
อยากแนะนำให้เริ่มต้นที่จุดเล็กๆ แล้วค่อยพัฒนาในระดับต่อไป เช่น การรักษาศีลในวันเกิด หรืออาทิตย์หนึ่งรักษา 1 วัน วันใดก็ได้อย่างเคร่งครัด แต่วันอื่นก็ใช่ว่าไม่รักษา รักษาเหมือนกัน ซึ่งอาจจะพลาดบ้างก็ไม่ว่ากัน แต่วันที่ตั้งใจรักษาก็ไม่ควรพลาดทั้ง 5 ข้อ เช่น อยู่บ้านไม่โกหกภรรยา หรืออยู่ที่ทำงานไม่โกหกลูกค้าเพื่อให้บริษัทที่ตัวเองทำได้ประโยชน์มากจากลูกค้า ไม่โกหกนาย หรือไม่ดื่มของมึนเมาไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือลูกค้า
"เพียงบอกให้เขารู้จุดประสงค์ของเราและต้องไม่อายที่จะบอกอย่างนั้น เมื่อทำได้วันหนึ่งไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย วันต่อไปก็ไม่ยาก ซึ่งไม่แน่ต่อไปเราอาจจะเป็นคนที่เคร่งครัดในศีล หมั่นในการเจริญจิตตภาวนาไปโดยปริยายก็ได้ หรือจะรักษาศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เช่น ไม่ประพฤติผิดในสามีภรรยาคนอื่น ไม่โกหก ตลอดชีวิต เป็นต้น เพียงแค่นี้ก็ถือว่าได้บุญมาก"
การรักษาศีลที่ถูกวิธีก็คือการรักษาที่ใจของตัวเองให้เป็นปกติจะได้ไม่คิดทำสิ่งที่ไม่ดีดนัย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ศีล ถ้าใครไม่มีศีลสักข้อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ก็ไม่เหลือ เมื่อใดก็ตามที่ศีลพร่องความเป็นมนุษย์ของเราก็พร่องด้วย เพราะฉะนั้นไม่ควรให้ศีลขาดเลย ถ้ารู้ว่าผิดศีลข้อไหนก็ตั้งใจเริ่มใหม่ได้
8.ทำบุญต้องทำให้ครบวงจร
การให้ทานอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะผลแห่งทานก็แค่ส่งผลให้ผู้ทำอยู่ดีมีสุขมีทรัพย์สมบัติเท่านั้น แต่ผลของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่พิกลพิการ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนนั้นเป็นผลของการรักษาศีล 5 ฉะนั้น อย่าคิดแต่การให้ทานเพราะทานจะให้แค่ความอุดมสมบูรณ์เพียงแค่ทางวัตถุภายนอกเท่านั้น ต้องรักษาศีลด้วยเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
"แต่ทานศีลยังไม่พอ จะต้องเจริญจิตตภาวนาด้วย เพราะใครก็ตามที่สามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ต้องเกิดจากการฝึกฝนอบรมจิตมาเป็นอย่างดี และจิตที่ฝึกมาดีจะทำให้มีความสุขเสมอ มีบางคนเกิดมาบนกองเงินกองทองแต่ปัญญาอ่อน พิกลพิการ นั่นเพราะให้ทาน ไม่เคยรักษาศีล บางคนรักษาแต่ศีลไม่เคยให้ทาน หน้าตาหล่อเหลาสะสวยแต่โง่ ฐานะดีแต่พอเจอปัญหาก็เอาตัวเองไม่รอดต้องฆ่าตัวตาย นั่นก็เป็นเพราะไม่รู้จักการฝึกจิตภาวนา"
ฉะนั้น จะทำบุญทั้งทีต้องทำให้ครบวงจรชีวิตจึงจะมีความสุข ความราบรื่น และบริบูรณ์ด้วยสิ่งที่ปรารถนาต้องการ
ที่มา : hunsa.com