13 กรกฎาคม 2552

4 ความเข้าใจผิดของชาวพุทธ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนในร้านกาแฟ เราได้หยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเป็นปกสีดำ มีรูปการ์ตูนเด็กผู้ชายหน้าตาตื่นเต้นเต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้ วาดด้วยลายเส้นสมัยใหม่ชื่อ “ข้างในนั้น” ในนี้มีอะไร

เราเปิดอ่านด้วยความสนใจ โดยไม่คาดหวังว่าจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้แต่เรากลับพบว่าเนื้อหาภายในคล้ายตำราข้อสอบฉบับแหวกแนวแต่เข้าใจง่ายเล่มนี้ ทำให้เราสะดุดและฉุกคิดอะไรหลายอย่างถึงสิ่งที่คนไทย เรียนรู้มาแต่เกิด นั่นคือเรื่องพระพุทธศาสนา ความเข้าใจ แนวคิดและวิธีปฏิบัติหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวัน ฝังอยู่ในสายเลือดให้รู้จัก ความอดทน อดกลั้น การให้อภัย ความเมตตา ที่สำคัญคนไทยเคยรู้จักความมีสติคิดก่อนทำ นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายอย่าง ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง

1.การนั่งสมาธิคือการบังคับจิตให้นิ่งจริงหรือ?
การนั่งสมาธิ เป็นเรื่องพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญ สมาธิ สติ และปัญญา แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเวลานานๆ ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรู้สึกว่านั่งสมาธิแล้วไม่ได้รู้สึกสงบ เหมือนที่หนังสือธรรมะหลายๆ เล่มบอกกล่าว ผลสุดท้ายการนั่งสมาธิกลายเป็นของแสลงสำหรับคนที่นั่งสมาธิไม่ได้

ศุภฤกษ์ สกุลชัยพรเลิศ อดีตตัวแทน คณิตศาสตร์โอลิมปิก 2 สมัย และเป็นเจ้าของสถาบันกวดวิชาคณิตศาสตร์ Sup'k Center และเจ้าของหนังสือ “ข้างในนั้น” ซึ่งเป็นหนังสือธรรมะสมัยใหม่ เผยความจริงง่ายๆ ของการปฏิบัติธรรม ที่หลายๆ คน ผู้ไม่รู้เข้าใจผิดมาโดยตลอดเกี่ยวกับการนั่งสมาธิว่า การนั่งสมาธิควรจะนั่งด้วยความรู้สึกตัว เวลานั่งๆ อยู่ จิตเผลอไปคิด ก็รู้ทัน จิตเผลอไปเบื่อ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยากเบื่อ ก็รู้ทัน ท้ายสุดจิตเกิด ความสุข ก็แค่รู้ทัน แล้วก็จะเห็นเองว่า จิตเกิดความสุขได้เอง (เนอะ) ทั้งๆ ที่ตอนเราสั่งให้สุข มันก็ ไม่เห็นจะสุขทันทีตามใจอยาก แต่พอเหตุถึงพร้อม มันก็เกิดความสุขได้เอง นั่นก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า ความสุขที่เกิดก็เป็นอนัตตา

“คนทั่วไปต้องการนั่งเพื่อให้ได้ความนิ่งๆ และนานๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คนทั่วไปจะหลงคิดผิดๆ ไปเองว่า หากเรานั่งสมาธิจนกระทั่งจิตนิ่งถาวรคง จะดีบรรลุได้ง่าย
การที่เรานั่งสมาธิเพื่อเอาความนิ่ง จะได้เรียนรู้อะไร นอกจากเรียนรู้ความนิ่ง? ไม่ได้บรรลุนิพพาน ไม่ได้เข้าใจความจริงอะไร หรืออีกกรณี หากนั่งเพ่งจ้องจิตให้นิ่ง อาจจะเครียดได้

การนั่งสมาธิที่ถูกต้องตามพุทธพจน์ คือ นั่งด้วยความรู้สึกตัว นั่งเพื่อเรียนรู้ความจริงของกายใจตนเองในแง่ไตรลักษณ์ เพราะเมื่อเรียนรู้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ด้วยสัมมาทิฐิ จิตจะค่อยๆ เกิดปัญญา เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต ถอดถอนจากความยึดมั่นในตัวกูของกู และพ้นจากทุกข์ พบความสุขที่แท้ได้ในที่สุด

2.ธรรมะสอนให้เรารู้จักอดทนอดกลั้น ให้อภัย แต่ไม่ใช่ให้จมอยู่ในกองทุกข์
สำหรับคนไทยเมื่อมีปัญหาเรามักจะยอมกันได้เสมอ แต่ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นการกดขี่ข่มเหง รังแก เป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมให้อภัย จะต้องอดทนให้เขากดขี่ข่มเหงไปตลอดหรือ

พระศรีญาณโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก ได้ให้คำตอบว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วเพราะพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้คนเราเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความ ตระหนี่ด้วยการให้ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ไม่ต้องเข้าไปพัวพันอยู่ในบ่วงกรรม

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสั่ง เพราะถ้าเมื่อเราถูกกระทำแล้วโต้ตอบด้วยวิธีการเดียวกัน จะกลายเป็นความแค้นผูกพยาบาทต่อกันข้ามภพข้ามชาติไม่มีจบสิ้น คำถามก็คือ แล้วต้องยอมเสมอไปหรือเปล่า คำตอบคือเปล่า พระธรรมสอนให้รู้จักความอดทนอดกลั้น รู้จักให้อภัย แต่ไม่ได้บอกว่าให้ยอมแพ้

เมื่อเกิดปัญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ต้องรู้จักวิธีการแก้ด้วยสติสัมปชัญญะ แก้ด้วยวิธีการที่เหนือชั้นกว่า คนอื่นทำแย่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้วิธีการแย่ๆ โต้ตอบกลับไป ใช้สติตริตรองหาทางออกที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

3.ห้ามโกหก ทำได้ยากจริงหรือ?
“มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ” การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่คนเราก็มักจะโกหก เพื่อการเอาตัวรอดอยู่เสมอ ทำให้ใครหลายๆ คนมักมองศีลข้อนี้เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ

พระศรีญาณโสภณ ได้ให้คำอธิบายถึงเรื่องการโกหกที่หลายๆ คนมักปฏิบัติไม่ได้ไว้ว่า การโกหกนั้นไม่ว่ามองในมุมไหนก็เป็นเรื่องไม่ดีทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ให้โทษแก่ผู้อื่น แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วไม่ได้โกหกเพื่อความอยู่รอด แต่โกหกเพราะเกิดความโลภ เกิดกิเลส เราถึงได้โกหกเพื่อให้ได้มา หรือโกหกเพื่อปกปิดความจริง

แต่การโกหกก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน เช่น การพูดโดยเจตนาที่ดี อย่างกรณีผู้ป่วยหนัก แต่ญาติไม่อยากให้รู้ความจริง เพราะรู้ไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นมา มีแต่คนไข้จะเสียกำลังใจ พาให้อาการทรุดหนักลงกว่าเดิม ก็ต้องพูดโดยใช้กุศโลบาย ซึ่งเป็นอุบายที่ดี ทำให้คนไข้หรือผู้ฟังมีความสบายใจ จนเมื่อถึงเวลาที่เห็นว่าคนไข้รับความจริงได้แล้ว จึงค่อยบอกออกไปอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการโกหก ไม่ผิดศีลเพราะทำด้วยเจตนาที่ดี การตีความจึงมองที่เจตนาเป็นหลัก

หรืออย่างเรื่องข้อมูลความมั่นคงของประเทศ ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องเอามาเปิดเผยให้รู้ทั้งหมด คำถามต่อมาก็คือรู้แล้วมีประโยชน์อะไร ถ้ารู้แล้วไม่มีประโยชน์มีแต่โทษถึงความมั่นคงของชาติ ก็ไม่จำเป็นต้องเอามาเปิดเผย อาจจะตอบแบบเลี่ยงๆ แต่อย่าบิดเบือนไปจากความจริง เพราะถ้าบิดเบือนไปจากความจริงแล้วเกิดโทษต่อประชาชน อย่างนี้ผิดศีลไม่ควรทำ

ที่สำคัญศีลที่ว่าด้วยการห้ามพูดปด ไม่ได้จำเพาะอยู่เพียงการโกหกเท่านั้น ยังหมายความรวมถึง การนินทาลับหลัง การใส่ร้าย การพูดจาด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งล้วนแต่เป็นคำพูดที่ให้โทษแก่ผู้อื่นล้วนผิดศีลข้อนี้ ทั้งสิ้น

4.บริจาคมาก ได้บุญมาก ?
เป็นความเชื่อที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็น เช่นนั้น บริจาคเงินแสนได้บุญมากกว่าเงินร้อย ความจริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

“ในเรื่องของการทำบุญ เราต้องเข้าใจก่อนว่าบุญคืออะไร การทำบุญเป็นเครื่องมือชำระจิตใจให้รู้จักการลดละกิเลส รู้จัก การเสียสละ การให้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตน มีมากก็ชำระมาก มีน้อยก็ชำระน้อย ตามแต่กำลังของแต่ละคน แต่การวัดว่าใครได้บุญมากบุญน้อยนั้นวัดกันไม่ได้

เพราะท้ายที่สุดเมื่อทำบุญแล้วความสุขก็บังเกิดแก่ผู้ที่ทำบุญทุกคน แต่ถ้าถามว่าแล้วคนที่ได้เงินมาโดยไม่สุจริตเป็นพวกค้ายา หรือร่ำรวยโดยไม่ชอบ มาทำบุญบริจาคเป็นแสนเป็นล้านแล้วจะได้บุญมากหรือเปล่า ต้องตอบว่า ได้แต่ไม่เต็มที่ เขาทำบุญคนก็อนุโมทนาสาธุ แต่ที่มาของเงินนั้นไม่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์เขาก็ได้บุญไม่เต็มที่ ด้วยในใจเขาย่อมรู้อยู่แก่ใจเองว่า เขาควรได้ผลบุญนั้นหรือไม่ เหมือนเราเล่นฟุตบอลใช้กลโกงทำผิดกติกาเพื่อให้ได้ประตู ถามว่าเขาจะได้คะแนนจากการทำประตูนั้นไหม ตัวเขานั้นย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าควรได้ประตูนั้นหรือเปล่า

ดังนั้น การทำบุญต้องทำด้วยเจตนาที่ดี ไม่ได้จำกัดว่าทำบุญมากทำบุญน้อย ต้องไม่หวังผลหรือสิ่งตอบแทน เราก็จะได้รับผลบุญนั้นอย่างเต็มที่” พระศรีญาณโสภณ ตอบคำถามทางธรรมที่มีผู้คนสงสัยกันมากที่สุด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสอน และแนวทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนา จะด้วยความไม่รู้หรือการ ตีความจากประสบการณ์ของแต่ละคนก็แล้วแต่สิ่งสำคัญคือ การรู้จักใช้สติ ปัญญา คิดพิจารณา ศึกษาจากการอ่านพระไตรปิฎกโดยตรง และลงมือปฏิบัติอาจจะดีกว่าการศึกษาหาอ่านจากตำราที่ผ่านการตีความจนผิดเพี้ยนไปจากความจริงอีกไม่รู้กี่ช่วง ทำให้เราจะไม่มีวันเข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้เลย

ที่มา : โพสต์ทูเดย์