08 ตุลาคม 2552

ความสุขกับเงิน


คุณทราบหรือไม่ว่า คน ๓ กลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่

เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา ชาวอามิชในรัฐเพนซิลวาเนีย ชาวอินุยต์ในเกาะกรีนแลนด์ มีอะไรบ้างที่เหมือนกันหรือเท่ากัน ?

ก)อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด

ข)สัดส่วนการมีโทรศัพท์มือถือต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน

ค)อัตราการตายด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน

ง)ความสุข

ถ้าคุณตอบข้อ ก)-ค) คุณก็ตอบผิดแล้ว คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง)

จากการสอบถามความเห็นของประชาชนทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนทั้ง ๓ กลุ่มข้างต้นมีความสุขกับชีวิตคิดเป็นคะแนนเท่ากัน คือ ๕.๘ (จากคะแนนเต็ม ๗) โดยมีชนเผ่ามาไซในแอฟริกาตามมาติด ๆ คือ ๕.๗

ผลการศึกษาดังกล่าวคงทำให้หลายคนอดแปลกใจไม่ได้ เพราะคนทั้ง ๓ กลุ่มนี้มีมาตรฐานความเป็นอยู่และรายได้แตกต่างกันอย่างมาก แต่กลับมีความสุขเท่า ๆ กัน ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ เศรษฐีอเมริกันซึ่งมีเงินมากมายมหาศาล กลับมีความสุขมากกว่าชนเผ่ามาไซเพียงแค่ ๐.๑ คะแนนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายหลังแทบไม่มีสมบัติอะไรเลย นอกจากกระท่อม ธนู และสัตว์เลี้ยงไม่กี่ตัว

การค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า ความร่ำรวยมิใช่ปัจจัยหลักของความสุข จริงอยู่คนเราจะมีความสุขก็ต้องมีเงินหรือทรัพย์สมบัติ อย่างน้อยก็ต้องเกินระดับความยากจน ถ้ายังกินไม่อิ่มนอนไม่อุ่น ก็ยากจะมีความสุขได้ ด้วยเหตุนี้คนเร่ร่อนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนียกับคนเร่ร่อนในกัลกัตตาจึงมีความ สุขแค่ ๒.๙ นั่นคือมีความสุขเพียงครึ่งเดียวของเศรษฐีอเมริกัน มองในแง่นี้ก็เห็นได้ไม่ยากว่า คนรวยมีความสุขมากกว่าคนจน

แต่เมื่อมีเงินหรือทรัพย์สมบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว แม้จะมีเงินมากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย คนอเมริกันและคนญี่ปุ่นมีรายได้สูงขึ้นและมีความสะดวกสบายมากกว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วหลายเท่าตัว แต่น่าสังเกตว่าอัตราส่วนของคนที่บอกว่า “มีความสุขมาก” ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย

ทำไมมีเงินมากขึ้นจึงไม่ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น? เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ เราชินชากับความร่ำรวยหรือสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นได้รวดเร็วมาก วันแรกที่คุณได้รถคันใหม่ที่ขับนิ่มกว่าเดิมหรูหรากว่าเดิม แน่นอนคุณย่อมมีความสุข แต่เมื่อผ่านไปสัก ๓ เดือนหรือครึ่งปี คุณก็จะรู้สึกเฉย ๆ กับรถคันนั้นแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสุขที่เคยเพิ่มขึ้นได้ลดมาสู่ระดับเดิมก่อนที่จะได้รถคันนั้น

คำพูดที่ว่า “เงินซื้อความสุขได้” จึงมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว ถ้าให้ถูกจริง ๆ น่าจะพูดว่า “เงินเช่าความสุขได้” อะไรที่เราเช่าหรือยืมมา เรามีสิทธิครอบครองได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าไม่นานก็ต้องคืนเขาไป ความสุขที่ได้จากเงินก็เช่นกัน มันมาอยู่กับเราเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

มีความสุขอีกมากมายที่ไม่ต้องใช้เงินเลย และสามารถอยู่ได้ยั่งยืนกว่า เช่น ความสุขท่ามกลางครอบครัวอันอบอุ่น ความสุขจากการสังสรรค์ในหมู่มิตร ความสุขจากการชื่นชมธรรมชาติ ความสุขจากการเอื้อเฟื้อผู้อื่น รวมถึงความสุขจากการทำสมาธิภาวนาชาวอามิช ชาวอินุยต์ และชาวมาไซ อาจไม่มีโอกาสเสพสุขจากวัตถุได้มากเท่าเศรษฐีอเมริกัน แต่สิ่งที่ให้ความสุขแก่พวกเขาอย่างมากมายคือ สัมพันธภาพอันงดงามทั้งกับผู้อื่นและกับธรรมชาติ รวมทั้ง

ความสุขจากใจที่สงบเย็นความสุขจากเงินนั้นมีเสน่ห์ตรงที่เข้าถึงได้ง่าย แต่อะไรที่ได้มาง่ายนั้นไม่ค่อยยั่งยืน (ลองนึกถึงความสุขจากเซ็กส์และยาเสพติดเป็นตัวอย่าง) แต่ความสุขจากสัมพันธภาพและความสุขจากจิตใจอันสงบนั้น แม้จะเข้าถึงยาก แต่อยู่ได้ยั่งยืนกว่าอย่างไรก็ตามมีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน (อย่างน้อยก็นานกว่าการเที่ยวห้าง) นั่นคือ บริจาคเงินให้แก่คนจนหรือผู้ทุกข์ยาก รอยยิ้มของเขาสามารถทำให้คุณอิ่มเอิบไปได้นานทีเดียว
ที่มา : teenee.com