13 กรกฎาคม 2552

สร้างสุขง่าย ๆ สไตล์ "หนูดี"


งานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด “อัจฉริยะสร้างสุข” ของ หนูดี-วนิษา เรซ เจ้าของหนังสือขายดีหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น อัจฉริยะสร้างได้ อัจฉริยะเรียนสนุก ฯลฯ บอกว่า ผลงานจากห้องวิจัยเกี่ยวกับความสุขและความสำเร็จในชีวิตยืนยันว่า การมีความสุขเป็นเรื่องที่สร้างได้ ทดลองได้ พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ แถมความสุขนั้นยังเป็นเรื่องที่มีผลต่อความสำเร็จระยะยาวของชีวิตโดยตรงอีกด้วย

ภายในงานหนูดีได้มาบอกเคล็ดลับที่จะช่วยทำให้คุณเกิดความสุขได้ด้วยเทคนิคง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน แต่ถ้าทำได้ความสุขก็จะอยู่กับเราอย่างถาวร

1.คนที่มีความสุขเป็นพิเศษในสังคม
หนูดีเล่าให้ฟังว่า มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง คือ ดร.เซลิกแมน และดร.ไดเนอร์ ได้ไปสัมภาษณ์และสังเกตอย่างใกล้ชิดกับคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่จัดการชีวิตได้ดีมาก และมีความสุขมากเป็นพิเศษ และพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคนทั่วไป นอกจากวิธีการตีความปัญหาและวิธีการพลิกฟื้นเยียวยา สำหรับวิธีการตีความปัญหานั้น อย่างเช่น เมื่อคนกลุ่มนี้ถูกโกงขึ้นมา เขาจะไม่ฟูมฟาย แต่จะมองว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนเวลาในการพลิกฟื้นเยียวยานั้น กลุ่มนี้จะมีเวลาพลิกฟื้นเยียวยาตัวเองที่เร็วกว่าคนทั่วไป อย่างเช่น คนปกติเวลาเกิดเรื่องเสียใจ อาจจะต้องใช้เวลาการพลิกฟื้นเยียวยาสัก 3 เดือน แต่คนกลุ่มนี้จะใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น และศึกษาคนกลุ่มนี้แล้วนำมาปฏิบัติตาม ซึ่งถ้าเกิดปฏิบัติตามนี้ได้ก็มีแนวโน้มว่าเราก็จะมีความสุขได้เช่นกัน

2.สุข ทุกข์ อยู่ที่สมอง
หลายคนบอกว่า สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ แต่สำหรับหนูดีแล้วเธอบอกว่า สิ่งที่ได้ศึกษามานั้นบอกว่าคนเราสุข ทุกข์ อยู่ที่สมอง คนเรามีหน่วยบัญชาการอารมณ์อยู่ในสมองของเรา ซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า ลิมบิก ซิสเต็ม (Limbic System) เพราะฉะนั้นทุกอารมณ์ที่คนเรารู้สึกตั้งแต่เด็ก สุข ทุกข์ ดีใจ เศร้า เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง อยู่ที่สมอง และสมองเป็นตัวบงการหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็ว ช้า ตามอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าแต่ละคนดูแลสมองให้ดี หัวใจก็จะดูแลตัวเองได้ดีเช่นกัน

3.ภารกิจลับสุดยอดของสมอง
หลายคนอาจจะคิดว่าภารกิจสำคัญของสมองก็คือการ คิด คิด และคิด แต่หนูดีกลับบอกว่า ภารกิจสำคัญและลับสุดยอดของสมองที่สำคัญที่สุด คือ การเอาตัวรอด เอาชีวิตรอด ให้นานที่สุด ในสถานการณ์ที่หลากหลายที่สุด เพราะถ้าเราเสียชีวิตสมองจะไม่เหลือคุณค่าใดๆ นอกจากส่วนประกอบอย่างไขมัน น้ำ และโปรตีนเท่านั้น เพราะฉะนั้นสมองจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อทำให้มีเรามีชีวิตรอดให้นานที่สุดนั่นเอง

4.ความทุกข์เป็นสิ่งจำเป็น
ความทุกข์เป็นกลไกที่จำเป็นของสมองในการที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้นานที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ หนูดี บอกว่า
“บางเรื่องเราอยากจะจำกลับลืม แต่บางเรื่องที่เราอยากจะลืมก็กลับจำได้ ถ้าเราสังเกตเรื่องที่เราอยากจำมักจะเป็นข้อมูลการเรียน การสอบ แต่กลับจำไม่ได้ แต่เรื่องที่เราอยากลืม เช่น อกหัก เสียใจ มักจะไม่ค่อยลืม แต่กลไกทางสมองไม่ได้ปล่อยให้เราลืมเรื่องที่เป็นความทุกข์ได้ง่ายขนาดนั้น

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ถ้าเกิดสิ่งที่เจ็บปวดขึ้นกับเราขึ้นมาสักครั้ง สมองจะเก็บเข้าไปในไฟล์เลยว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย ไม่ควรเข้าใกล้อีก ไม่ใช่เพราะสมองต้องการทำร้ายเรา แต่เป็นเพราะสมองต้องการจำให้แม่น เพื่อไม่ให้เราต้องเดินเข้าไปหาสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่คุณกำลังมีความทุกข์ นั่นก็คือสมองกำลังบอกรักคุณอยู่ เพราะอยากให้คุณมีชีวิตที่ดี มีชีวิตรอด ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้เราจะไม่โกรธตัวเอง ไม่ตื่นเต้นตกใจเลยเวลาที่เรามีความทุกข์ เพราะเราจะรู้ว่านี่คือกลไกทางธรรมชาติที่จะปกป้องเรา”

5.ความทุกข์ช่วยประหยัดพลังงาน
หลายครั้งที่เราเกิดความทุกข์ เกิดความล้มเหลวในการทำงาน จนอยากจะนอนอยู่เฉยๆ ไม่อยากลุกจากเตียงไปไหน ไม่อยากเจอใคร พูดกับใคร ซึ่งเรื่องนี้ หนูดีบอกว่าเป็นวิธีการของสมองที่จะตัดระบบจ่ายพลังงานของเราทั้งหมด เพื่อไม่ให้เราออกไปพบเจอกับเหตุการณ์นั้นอีก ทำให้คุณรู้สึกไม่มีแรง ไม่อยากออกไปไหน

“เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ทันวิธีการของสมองก็จะทำให้เราอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ออกไปไหน อยู่จนความคิดตกตะกอน และเมื่อรู้สึกว่าความคิดนิ่งพอแล้วก็พร้อมที่จะออกมาเผชิญกับสังคมและปัญหาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร นักวิจัยจะแนะนำว่าให้เราหากิจกรรมที่เป็นขั้นเป็นตอนทำ แต่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เช่น ทำความสะอาดบ้าน ออกไปช็อปปิ้งของเข้าบ้านมาทำอาหารสัก 2-3 วัน จนรู้สึกว่าใจพร้อมค่อยออกไปทำงานต่างๆ ที่คั่งค้างเอาไว้ต่อ แต่ถ้าคนไหนที่รู้สึกว่ามีความทุกข์แล้วพักจนพอแล้วสามารถเข้าทำงานที่ค้างได้ต่อเลย เพราะจะเป็นการบำบัดเยียวยาที่ดีที่สุด”

6.วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสมอง
อย่างที่รู้ว่าภารกิจหลักของสมองของคนเรานั้นคือการเอาตัวรอด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์กลัวและโกรธ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสมองของตัวเอง ไม่ทำงานที่เครียดเกินไป ไม่อยู่ในภาวะที่กลัวหรือโกรธเกินไป ทำได้ง่ายๆ เช่น การวางแผนเส้นทางก่อนจะออกเดินทางไปไหน และถ้าเราสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ความฉลาดก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว

“เวลาที่เราเครียดฮอร์โมนคอร์ติซอลจะหลั่งออกมาจากร่างกายและเป็นฮอร์โมนที่อันตราย และถ้าหลั่งออกมาเป็นระยะเวลานานก็จะยิ่งเป็นอันตราย เพราะในสมองของเรามีอวัยวะเล็กๆ ที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส ที่ช่วยบันทึกความจำ และในช่วงที่คนเรานอนหลับ อวัยวะส่วนนี้จะทำหน้าที่ย้ายความทรงจำระยะสั้นไปสู่ความทรงจำระยะยาว แต่ถ้าคืนไหนที่นอนน้อย หรือนอนไม่หลับ การย้ายก็จะไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

และถ้าฮอร์โมนคอร์ติซอลในสมองหลั่งออกมาเยอะก็จะไปทำลายสมอง และจะไปทำลายฮิปโปแคมปัสด้วย เพราะฉะนั้นคนที่มีความเครียดระยะยาวความจำจึงมักไม่ค่อยดี เพราะส่วนที่บันทึกความจำถูกทำลาย

วิธีที่จะช่วยฟื้นฟูสมองก็คือ การออกกำลังกายด้วยวิธีอะไรก็ได้ที่เทียบเท่ากับการเดินเร็ว สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และมีงานวิจัยออกมาว่าถ้าออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างเซลล์ใหม่ในฮิปโปแคมปัสได้ด้วย เพราะจะมีออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้เยอะมาก และเมื่อความทุกข์ทำลายสมองได้ ความสุขก็สามารถบำรุงสมองได้ เพราะเมื่อคนเรามีความสุขจะมีสารเคมีที่เป็นประโยชน์กับสมองหลั่งออกมามากมาย อย่างเช่น เอนดอร์ฟิน

7.หัวเราะ บำบัดโรคซึมเศร้า
การหัวเราะเป็นเรื่องที่มีการวิจัยและการรองรับค่อนข้างมากว่ามีประโยชน์ เพราะทุกครั้งที่คนเราหัวเราะร่างกายจะหลั่งสารเคมีที่ดีออกมา นอกจากนั้นหลังจากที่ได้หัวเราะออกไป คนเรามักจะรู้สึกว่ามีความพร้อมเรียนรู้มากกว่าก่อนที่จะหัวเราะเสียอีก

“มีเคสหนึ่งที่ตัวคุณหมอเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา และรู้ว่ายาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้านั้นอันตรายมาก จึงจัดยาให้ตัวเองด้วยการหัวเราะทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงก่อนนอน โดยไม่กินยาเลยแม้แต่เม็ดเดียว ซึ่งปรากฏว่าผ่านไปประมาณ 6 เดือน สามารถบำบัดโรคซึมเศร้าได้อย่างหายขาด เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามหัวเราะให้ได้ทุกวัน”

เหล่านี้คือวิธีง่ายๆ (ส่วนหนึ่ง) ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญช่วยสร้างความสุขให้กับเราได้... ไม่มากก็น้อย แต่ก็เรียกว่า สุข (นะ)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์